สรรพคุณของ กัญชา ที่หลายคนอาจยังไม่รู้

46

หากพูดถึง สรรพคุณของ กัญชา ในอดีตคนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการเสพเพื่อสันทนาการ เพื่อทำให้มึนเมา เคลิบเคลิ้ม แต่จริง ๆ แล้วกัญชามีประโยชน์มากมายหลายด้านเพราะมีสารสำคัญ Cannabinoids ซึ่งมีฤทธิ์สำคัญได้แก่ THC และ CBD ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้ก็มีฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป สาร THC จะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ช่วยทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม นอนหลับง่าย และลดอาการตึงเครียดได้ ส่วนสาร CBD ช่วยในด้านบรรเทาอาการอักเสบของแผล ลดความเจ็บปวดลง ลดอาการคลื่นไส้ ลดอาการชักเกร็ง อีกทั้งยังสามารถต่อต้านยับยั้งเซลล์มะเร็ง

ในปัจจุบันกัญชาจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน สเปรย์ ผง แคปซูล เครื่องพ่นไอระเหย ไปจนถึงการนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง ใส่ในอาหาร และเครื่องดื่มต่าง ๆ โดยหากแยกประโยชน์ และสรรพคุณเด่น ๆ ก็แบ่งออกได้ดังนี้

สรรพคุณ กัญชา ทางด้านรักษาโรคแบบโบราณ

เราทราบดีกันอยู่แล้วว่าสมุนไพรกัญชา ถูกใช้รักษาโรค และบรรเทาอาการเจ็บป่วยมาตั้งแต่โบราณไม่ว่าจะเป็น ใช้แก้ปวดหัว แก้อาการสั่นเพ้อ แก้อาการไอ อ่อนล้า ปวดประจำเดือนของสตรี โรคข้อกระดูก ต่าง ๆ โดยจะใช้ส่วนของ ดอก ยอดอ่อน ใบ เมล็ด มาต้มรับทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสรรพคุณในแต่ละส่วนของกัญชาในการรักษาแบบโบราณก็มีดังนี้

ใบกัญชา

  • ใช้เป็นยาแก้ไข้ผอมเหลือง ตัวสั่น เสียงสั่น ไม่มีเรี่ยวแรง
  • ใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด ช่วยขยายหลอดลม บรรเทาการหดตัวของหลอดลม วิธีใช้ให้นำใบสดมาหั่นเป็นฝอยละเอียด แล้วเอาไปตากแห้ง หลังจากนั้นจึงนำมามวนเป็นสูบรักษาโรค

เมล็ดกัญชา

  • ช่วยบำรุงกำลัง ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • ใช้เป็นยาแก้กระหายน้ำ
  • มีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด แก้ท้องผูกโดยเฉพาะในคนสูงอายุจะได้ผลดี
  • หากเป็นสูตรยาพื้นบ้านล้านนาเพื่อคุมกำเนิดสำหรับสตรี จะนำเมล็ดกัญชาจำนวน 3 เมล็ด ผสมกับพริกไทย 3 ผล บดให้เป็นผงรวมกันจนละเอียด แล้วผสมกับน้ำกินทุกคืน
  • หากใช้แต่เมล็ดซึ่งมีน้ำมันถึง 30% จึงควรใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาเพราะหากใช้เมล็ดกัญชาในปริมาณที่มากไปอาจทำให้มีอาการหวาดกลัว และหมดสติได้

ยอดอ่อนกัญชา

  • รักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เป็นยาสงบเส้นประสาท ทำให้นอนหลับได้ดี เคลิ้มหลับสนิท
  • ยังใช้แก้โรคสมองพิการ
  • ใช้เป็นยาระงับอาการปวด
  • ใช้เป็นยาแก้อักเสบ
  • แก้โรคบิด แก้ปวดท้อง และโรคท้องร่วง

วิธีใช้ ให้นำยอดอ่อนมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์จะได้สารที่มีน้ำเป็นสีเขียว แล้วนำไปทานโดยหยดใส่ปาก ประมาณ 5-15 หยด

ดอกกัญชา

  • ใช้เป็นยาแก้โรคเส้นประสาท เช่น นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน เครียด คิดมาก หรือใช้กับผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร โดยนำมาปรุงผสมกับอาหารให้ผู้ป่วยทาน
  • เป็นยาช่วยกัดเสมหะในลำคอ โดยใช้ดอกกัญชากับยาฉุนพญามือเหล็กมาผสมรวมกัน นำมาหั่นแล้วสูบ

รากกัญชา

ในหลาย ๆ ประเทศนำมาใช้เพื่อรักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะเป็นส่วนที่ไม่มี สาร THC ที่ทำให้ร่างกายเกิดผลข้างเคียง หรือผลเสียต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านจิตประสาท แต่อุดมไปด้วยสาร CBD ที่ใช้รักษาบรรเทาได้มากมายหลายอาการ เช่น ลดไข้ ขับปัสสาวะ ลดแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ลดปวด ช่วยในด้านสมอง และประสาทให้เป็นปกติ ลดอาการบวม ช่วยการทำงานของลำไส้ระบบย่อยอาหาร ป้องกันโรคอ้วน ต้านเบาหวาน ฯลฯ

ทุกส่วนของต้น

  • ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ใช้เป็นยาทาภายนอกรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน
  • ใช้เป็นยารักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก
  • ช่วยลดอาการเจ็บปวด ที่มาจากโรคไขข้ออักเสบ

ทั้งนี้หากอยากเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาควรเพิ่มตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา หรือจะใช้สูตรตำราโบราณที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ถึง 16 สูตร ที่สามารถรักษาอาการที่แตกต่างกันออก เช่น ยาศุขไสยาศน์, ยาทำลายพระสุเมรุ, ยาแก้ลมแก้เส้น, ยาอัคคินีวคณะ, ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย, ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ, ยาแก้สัณฑฆาต และยากร่อนแห้ง เป็นต้น

แต่ก็มีข้อควรระวังตามตำราโบราณบอกว่าหากใช้มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอน มีอาการชัก ตาลาย หรือติดได้ ในผู้ชายหากทานมากไปอาจส่งผลให้ให้น้ำกามเคลื่อน ส่วนผู้หญิงอาจทำให้มีอาการตกขาวได้

สรรพคุณของ กัญชา ในยาแผนปัจจุบัน

ในปัจจุบันสามารถสกัดสารสกัดจากกัญชาออกมาหลายรูปแบบ ทั้งแคปซูล แบบเม็ด แบบผง แบบชง และในรูปแบบน้ำมันกัญชา ซึ่งสามารถใช้บรรเทาอาการได้ดังนี้

  • ทำให้เจริญอาหาร และอาการเบื่ออาหาร ซึ่งสารในกัญชาสามรถกระตุ้นความอยากอาหาร จะช่วยชะลอน้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ติดเชื้อ HIV (เอดส์) ได้
  • ช่วยป้องกันอาการ อาเจียน รู้สึกคลื่นไส้ ในผู้ป่วยที่เข้ารับเคมีบำบัด
  • รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • รักษาโรคลมชักที่รักษายาก และผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื้อต่อยา
  • รักษาภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
  • ใช้ลดอาการหืด หอบ แต่ให้ระวังผลข้างเคียงเพราะยาแก้หอบหืดทุกตัวมีข้อเสีย เช่น หัวใจเต้นเร็วและใจสั่น ไอ ปวดหัว ซึ่งกัญชาก็ส่งผลเช่นกัน เนื่องจากมีฤทธิ์ขยายหลอดลม และลดการหดตัวของหลอดลม
  • ยับยั้งต้อหิน สารในกัญชามีสรรพคุณช่วยความดัน ภายในลูกนัยน์ตาลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องหลายชั่วโมงไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือมีอาการความดันลูกนัยน์ตาสูงจากโรคต้อหิน โดยจะให้สารกัญชาผ่านการกินหรือทางหลอดเลือดดำซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนกัน ทั้งนี้กัญชายังไม่สามารถรักษาต้อหินให้หายขาดได้ แต่จะช่วยยับยั้งความเสี่ยงที่จะทำให้ตาบอดได้มากยิ่งขึ้น โดยจะใช้ในกรณีที่ยาทั่วไปช่วยไม่ได้ และการผ่าตัดดูเสี่ยงมากเกินไป
  • บรรเทาอาการปวด สารในกัญชากลุ่มแคนนาบินอยด์ โดยเฉพาะสาร THC ขึ้นเชื่อในเรื่องช่วยลดอาการปวดเรื้อรังตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะโรคกระดูก แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อาการปวดเรื้อรังนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
  • รักษาโรคพาร์กินสัน ถึงแม้จะมีการนำมาใช้กันบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจนยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติม
  • รักษาโรคอัลไซเมอร์ ยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมเช่นกัน
  • รักษาโรคปลอกประสาทอักเสบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติม
  • รักษาโรคริดสีดวงทวาร การใช้ยารักษาโรคนี้จะใช้ยาประเภททา ซึ่งพบว่าอาการปวดอักเสบทุเลาลงลดลง หัวริดสีดวงที่โผล่ออกมานอกหรืออยู่บริเวณรอบ ๆ รูทวารมีการฝ่อลง

ประโยชน์ สรรพคุณของ กัญชา ด้านเครื่องสำอาง

ในปัจจุบัน โดยเฉพาะต่างประเทศมีการนำสารสกัดน้ำมันกัญชามาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ความงามหลายรูปแบบ เช่น น้ำมันทาผิว สบู่ หรือลิปบาล์ม บางครั้งก็ใช้กากกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อใช้สครับผิว ซึ่งก็มีหลายสรรพคุณให้เลือกใช้ เช่น ลดการอักเสบของผิว ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ รักษาสิว ช่วยชะลอริ้วรอย กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ปกป้องผิวจากรังสี UVA UVB สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความหมองคล้ำ จุดด่างดำ อีกทั้งทั้งยังช่วยเสริมสร้างผิวให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของกัญชาทางด้านอาหาร

สำหรับการทำอาหารด้วยกัญชานั้น ก็มีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม CRAFT SODA ชาไทยผสมกัญชา ขนมหวานช็อกบอลกัญชา ขนมปัง บราวนี่กัญชา ของคาวก็อย่าง เล้งแซ่บใบกัญชา หรือแม้แต่กัญชาใบกะเพรา การใช้กัญชาเป็นส่วนผสมก็มีทั้งใบกัญชาแห้ง ใช้สารสกัด CBD หรือจะใช้สารสกัด Terpene ในกัญชาก็ปลอดภัยเช่นกัน

ข้อควรระวังการใช้กัญชา

  • เกิดอาการประสาทหลอน มีอาการชัก ตาลาย ในผู้ชายจะทำให้น้ำกามเคลื่อน ในผู้หญิงจะทำให้เกิดอาการตกขาว
  • ถึงแม้จะเสพเพียงระยะสั้น อาจทำให้สูญเสียความทรงจำ เกิดความสับสน วิตกกังวล
  • ทำลายความรู้สึกทางเพศ ระดับฮอร์โมนเพศชายชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • สูบกัญชาเพียง 4 มวน เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวนเลยทีเดียวซึ่งถือว่าสูงมาก จึงทำให้เสี่ยงต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งเป็นอย่างมาก
  • การเสพกัญชาเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีความผิดปกติทางสมองจนก่อให้เกิดอาการทางจิตประสาทตามมา
  • ถึงแม้ว่าสาร THC และสารออกฤทธิ์อื่น ๆ ในกัญชา จะทำให้เสพติดได้น้อยกว่านิโคตินค่อนข้างมาก หากใช้มากเกินไป ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน แม้จะไม่ได้ใช้ทุกวันก็ส่งผลให้เสพติดได้โดยไม่รู้ตัว หรือที่เรียกว่า ภาวะสมองติดยา ถึงจะติดไม่รวดเร็วหรือรุนแรงเท่ากับยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี หากออกฤทธิ์ต่อสมองย่อมส่งผลเสีย สมองจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ดังนั้นควรเลือกใช้เพื่อรักษาโรค เมื่อหายแล้วก็ให้หยุด ไม่ควรใช้เพื่อเสพสันทนาการ

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ และ สรรพคุณของ กัญชา นั้นมีมากมาย โดยเฉพาะทางด้านสุขภาพ และในทางการแพทย์ที่สามารถนำทุกส่วนของต้นกัญชามาใช้รักษาโรคต่าง ๆ แต่การใช้จะแตกต่างกันไปตามความตอบสนองของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแล

อย่างไรเมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย หากต้องการใช้สารกัญชาควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สารกัญชาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ เช่น นำไปผสมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ควรศึกษาข้อมูล และขออนุญาตให้เรียบร้อย ผู้บริโภคจะได้มีความปลอดภัยมากขึ้น

บทความก่อนหน้าสรรพคุณของ กัญชง ประโยชน์มากมาย ที่รู้แล้วต้องทึ่ง
บทความถัดไปค้นพบ CBN ในพืชกัญชง-กัญชา สามารถรักษาโรคทางสมองได้จริง